ประเพณีป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง
กำหนดให้มีตั้งแต่วันที่ 13-16 เมษายน
โดยการเนรมิตถนนเล่นน้ำกลางเมืองเชียงราย ภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น
ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ขนทรายเข้าวัด
สรงน้ำพ่อขุนเม็งรายมหาราช รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุแต่ละชุมชน ประกวดเทพีสงกรานต์
แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ขบวนแห่ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง บนถนนเล่นน้ำคือ ถนนธนาลัย
จะใช้เป็นถนนเพื่อการเล่นน้ำตลอดทั้งสาย
โดยเทศบาลได้ออกแบบอุโมงค์ที่มีสายน้ำใสสะอาดพุ่งออกมาจากทั้งสองฟากถนน
รวมทั้งติดตั้งระบบน้ำพุ
เพื่อสร้างสีสันบรรยากาศของความชุ่มฉ่ำของสายน้ำตลอดเทศกาล
พร้อมกันนี้ได้จัดให้มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ
หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ และผู้สูงอายุ
เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือและความเป็นสิริมงคลตามประเพณีที่ชาวล้านนาได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา
ตลอดทั้งเป็นการ่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีให้กับชนรุ่นหลัง
ประเพณียี่เป็งลอยกระทง
จัดขึ้น ณ สนามฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (สนาม รด.)
เชิงสะพานแม่ฟ้าหลวง ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี โดยจะมีการจัดงาน 2 วัน
ในวันแรกจะมีกิจกรรมลอยกระทงเล็ก การประกวดหนูน้อยนพมาศ และวันต่อมาจะมีขบวนแห่กระทงที่ยิ่งใหญ่จากสวนตุง
และโคมฯ ถนนธนาลัย สู่สถานที่จัดงาน และ มีการประกวดนางนพมาศ ประกวดโคม
ประกวดกระทง พร้อมการแสดงบนเวทีอย่างตระการตา
โครงการจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง
จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เป็นการจัดงานเพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่
ไทย ลาว จีน พม่า เวียดนาม และกัมพูชา
เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม
ประเพณีระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายและประเทศไทย
รวมทั้งเป็นการสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้แนบแน่น
เชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นการผูกมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน
อันจะนำไปสู่การขยายฐานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ส่งผลดีในปัจจุบันและอนาคตทางด้านการค้า
การลงทุนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จึงทำให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ
จัดขึ้นราวปลายเดือนตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายนของทุกปี
ประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเจียงฮาย
เป็นขบวนแห่พระคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญๆ
ของวัดต่างๆ
ประดิษฐานบนบุษบกแห่ให้ประชาชนสักการะบูชาโปรยข้าวตอกดอกไม้ในบ่ายวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี
เพื่อเป็นศิริมงคลสำหรับเมืองเชียงราย
ส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะผ่านไปและรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง แล้วตักบาตรในวันที่ 1
มกราคมตอนเช้ารับวันปีใหม่ ซึ่งมีพื้นฐานความคิดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก
ด้วยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการะบูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ในตัวเมืองเชียงราย
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวาระของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย
มาประดิษฐานบนบุษบกที่ได้สร้างขึ้นโดยช่างศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย
จัดเป็นขบวนอัญเชิญไปรอบเมืองเชียงราย
ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบไหว้สักการะบูชาด้วย ข้าวตอก ดอกไม้
จึงถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นสิริมงคลยิ่งนัก
เทศกาลวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา
เมื่อถึงวันนี้แล้วพระภิกษุสามเณรจะต้องทำพิธีอธิษฐานพรรษา คือ
อธิษฐานเพื่ออยู่ประจำในวัดใดวัดหนึ่งที่ตนทำพิธีอธิษฐานนั้นตลอด 3 เดือนในฤดูฝน
คือตั้งแต่แรม 11 ค่ำ เดือน 8 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อถึงวันเข้าพรรษา
พุทธศาสนิกชนย่อมมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ
เช่น การถวายผ้าอาบน้ำฝน การถวายจตุปัจจัยไทยธรรมและถวายเทียนพรรษา
ซึ่งถือว่าเป็นการถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาระหว่างพรรษา
และเพื่อให้ความสว่างในเวลามีพิธีกรรมทางศาสนาในเวลากลางคืน ดังนั้นจังหวัดเชียงรายมีความตระหนักและเห็นความสำคัญจึงได้ยึดเป็นนโยบายหลัก
ในการสนับสนุนส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
จึงได้จัดทำโครงการสืบสานประเพณีหล่อเทียนพรรษาขึ้น
และจัดขบวนเทียนพรรษาอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี บริเวณสวนตุงและโคมฯ ถนนธนาลัย
งานตานหาพญามังราย
นื่องในวันที่ 26 มกราคม ของทุกปี
จะเป็นวันคล้ายวันที่พญามังราย หรือ พ่อขุนเม็งรายมหาราช
ได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายไว้เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.1805 เทศบาลนครเชียงราย
ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลสักการะดวงพระวิญญาณพ่อขุนเม็งรายมหาราชขึ้นในวันที่
25 มกราคม ของทุกปี ณ วัดดอยงำเมือง ในงานมีกิจกรรมทางศาสนาจัดพิธีกรรมแบบล้านนา
ซึ่งประกอบไปด้วย พิธีสักการะบูชาพระสถูป การสืบชะตาเมือง การทำบุญเมือง
และการจัดกิจกรรมสมโภชเมือง อาทิ การฟ้อนเล็บ การฟ้อนดาบ และการตีกลองสะบัดชัย
เพื่อถวายแด่องค์พ่อขุนเม็งรายมหาราช อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที
และการเคารพต่อดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน โดยพี่น้องชาวเชียงราย
และพี่น้องชุมชนในเขตเทศบาลจะเข้าร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ด้วยการนำพานพุ่ม
หรือพานดอกไม้เครื่องบูชาสักการะ ถวายดวงพระวิญญาณพ่อขุนเม็งรายมหาราช
เพื่อความร่มเย็นของเมืองเชียงรายและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้วย
นอกจากพิธีดังกล่าวแล้ว
ในช่วงปลายเดือนมกราคมของทุกปี จังหวัดเชียงรายร่วมกับองค์กรต่าง ๆ
ทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีการร่วมกันจัดงานกาชาดประจำปีของจังหวัดเชียงรายหรือที่นิยมเรียกกันว่า
"งานพ่อขุนเม็งรายมหาราช" ซึ่งจัดขึ้นประมาณปลายเดือนมกราคมของทุกปี
ภายในงานจะมีการออกร้านจัดนิทรรศการของส่วนราชการและเอกชน งานรื่นเริงต่าง ๆ
การจัดจำหน่ายสินค้า อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของหวัดเชียงรายได้เป็นอย่างดี
งานปีใหม่เคาท์ดาวน์หอนาฬิกา
มหกรรมงานวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ร่วมนับถอยหลัง(เค้าท์ดาวน์) เพื่อเข้าสู่ปีใหม่พร้อมกัน ณ
บริเวณหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ ถนนบรรพปราการ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ภายในงานมีการเปิดการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การแสดงของวงดนตรี
และสลับการแสดงของชุมชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา
จากชุมชนและสถาบันการศึกษาในเขตเทศบาลฯ การแสดงกลองบูชาและกลองยาว
การแสดงกลองสะบัดชัย โดยจุดนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
มีการจุดพลุเฉลิมฉลอง และการปล่อยโคมไฟเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
มีฉากหลังเป็นหอนาฬิกาที่สุดอลังการให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศได้ชื่นชมความงดงามโดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา
17.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม เป็นต้นไป
งานประเพณีแห่โคมไฟ ไหดอก
จัดขึ้นเนื่องในวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น
15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและเป็นวันที่เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นหลายประการ
คือ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป
มาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนซึ่งพระสงฆ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
และในวันมาฆบูชานี้พระพุทธเจ้าได้แสดงพระโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์
เนื้อหาโดยสรุปคือ ให้ละเว้นความชั่วทุกชนิด ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส
และเมื่อวันมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบทุกปี
เทศบาลนครเชียงรายร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายจึงได้ จัดงานประเพณีแห่โคมไฟ
ไหดอก ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเพื่อให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันสร้างบุญกุศลสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป
ตักบาตรเที่ยงคืน
ในครั้งอดีตเมื่อใกล้เวลาประมาณเที่ยงคืน
ในคืนวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ จะมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์
สามเณร ภายในเขตเทศบาลนครเชียงราย ตามถนนสายต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยรูป โดยเรียกวันดังกล่าวว่า
"วันเป็งปุ๊ด" และมีประวัติ ความเป็นมาสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า
พระมหาอุปคุตซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่มีมหาอิทธิฤทธิ์สามารถดลบันดาลโชคลาภวาสนาได้ออกจากการเข้าฌานสมาบัติที่ใต้สะดือทะเลแล้วแปลงกายเป็นสามเณรน้อยออกมาโปรดสัตว์โลกเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระมหาอุปคุตแล้วบุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้มีบุญ
จะมีโชคลาภวาสนาร่ำรวยเป็นเศรษฐีและบังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ซึ่งประเพณีการตักบาตรเที่ยงคืนวันเป็งปุ๊ด
ถือเป็นประเพณีล้านนาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เพราะว่าแต่ละปีอาจมีวันเพ็ญขึ้น
15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ เพียงแค่ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งเท่านั้น
หลายคนจึงเฝ้ารอที่จะมาทำบุญตักบาตรในวันดังกล่าว
เทศบาลนครเชียงรายจึงได้จัดงานประเพณีตักบาตรวันเป็งปุ๊ดเพื่อให้คงอยู่คู่วัฒนธรรมล้านนาของชาวเชียงรายสืบไป
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
คือ การทำบุญตักบาตร ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
เนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คำว่า เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ
ซึ่งแปลว่า การเสด็จลงจากเทวโลก ความเดิมมีว่าในพรรษาที่ 7
นับแต่วันตรัสรู้พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา
จนบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
แล้วจึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสะนคร ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก
ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก เมื่อทรงแลดูข้างล่าง
สถานที่นั้นก็มีเนินอันเดียวกันจนถึงอเวจีมหานรก ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน
เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา
ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีขณะที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ชาวเมืองจึงพากันทำบุญตักบาตรเป็นการใหญ่เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาถึง
3 เดือน การทำบุญตักบาตรในวันนั้นจึงได้ชื่อว่า ตักบาตรเทวโรหนะ
ต่อมามีการเรียกกร่อนไปเหลือเพียง ตักบาตรเทโว
เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นและเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่
เทศบาลนครเชียงรายจึงได้จัดงานประเพณี "ตักบาตรเทโว"
เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี
แหล่งที่มาของข้อมูลhttp://www.chiangraicity.go.th/content.php?content_id=36
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น